Tuesday, February 28, 2012

บทที่ 7 การศึกษารายกรณี


การศึกษารายกรณี
                   การศึกษารายกรณี หมายถึง การศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับบุคคล อย่างลึกซึ้งและวิเคราะห์ถึงสาเหตุที่ทำให้บุคคลมีพฤติกรรมเช่นนั้น หรือมีพฤติกรรมแปลกไปว่ามีสาเหตุมาจากอะไร รวมทั้งแปลความหมายของพฤติกรรมนั้นๆ ว่ามีความสัมพันธ์กับปัญหา และการปรับตัวของบุคคลอย่างไร (พนม ลิ้มอารีย์.  2538: 8) ซึ่งสอดคล้องกับกมลรัตน์ หล้าสุวงษ์ (2529: 3) ได้กล่าวว่า การศึกษาบุคคลเป็นรายกรณี   คือ การศึกษารายละเอียดต่างๆ ที่สำคัญของหน่วยใดหน่วยหนึ่งในสังคม เช่น บุคคล กลุ่ม ชุมชน สถาบัน ฯลฯ โดยเฉพาะในปัจจุบัน มักเน้นศึกษารายละเอียดของแต่ละบุคคล การศึกษารายละเอียดของแต่ละบุคคลนี้ จะต้องศึกษาต่อเนื่องกันไป
                   ในระยะเวลาหนึ่ง แล้วนำรายละเอียดที่ได้มาวิเคราะห์ตีความ เพื่อให้เข้าใจถึงสาเหตุของพฤติกรรม  ซึ่งอาจจะเป็นพฤติกรรมที่เป็นปัญหาหรือไม่เป็นปัญหาก็ได้ พัฒนาการด้านต่างๆ ความสามารถพิเศษด้านใดด้านหนึ่งหรือหลายๆ ด้าน ถ้าในรายที่เป็นปัญหา จะได้ใช้เป็นแนวทางในการที่จะช่วยเหลือหรือแก้ไข แต่ถ้าในรายที่ไม่เป็นปัญหาจะได้ใช้เป็นแนวทางในการป้องกัน ส่งเสริม หรือนำไปเป็นแบบฉบับแก่บุคคลอื่นต่อไปในปัจจุบัน และในอนาคต
                   ประหยัด  ลักษณะงาม (2524 : 37) กล่าวว่า การศึกษารายกรณีเป็นวิธีการศึกษาบุคคลอย่างละเอียดทุกด้านต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน นับเป็นเทคนิคหนึ่งของการแนะแนวที่ใช้เทคนิคการแนะแนวหลายๆ อย่างรวมยอดข้อมูลทุกด้านของบุคคล ต่อจากนั้นนำข้อมูลที่ได้มาจัดรวมกันไว้อย่างเป็นระบบ  เพื่อใช้ประโยชน์ในการวิเคราะห์ สังเคราะห์ และวินิจฉัยปัญหา เพื่อช่วยให้มองเห็นบุคลิกภาพของบุคคล จนสามารถเข้าใจถึงธรรมชาติของบุคคลและหาสาเหตุของปัญหาชัดเจน แล้วจึงนำข้อมูลมาพิจารณาวางแผนให้ความช่วยเหลือแนะแนวให้บุคคลพยายามแก้ไขปัญหา และพัฒนาสภาพชีวิตของตนให้สามารถดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
                   สุภาพรรณ  โคตรจรัส (2528: 1) กล่าวว่า การศึกษารายกรณี เป็นการศึกษาและวิเคราะห์สิ่งหนึ่งสิ่งใดโดยละเอียด อาจเป็นการศึกษาบุคคลใดบุคคลหนึ่ง กลุ่มบุคคล กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ชุมชนใดชุมชนหนึ่ง หรือสถาบันใดสถาบันหนึ่ง การศึกษารายกรณี มิได้หมายความเฉพาะการรวบรวมข้อมูล ประวัติของบุคคลที่ถูกทำการศึกษาเท่านั้น แต่ยังต้องรวมถึงการนำข้อมูลเหล่านี้มาวิเคราะห์จัดหมวดหมู่ และหาความสัมพันธ์ เพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยการให้ข้อเสนอแนะเพื่อดำเนินการ และการติดตามผลตามลำดับ
                   นันทิกา   แย้มสรวล (2529:7) ได้สรุปความคิดรวบยอดของการศึกษารายกรณีว่าเป็นวิธีการศึกษาบุคคลอย่างละเอียดทุกด้านต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน เป็นการรวบรวมข้อมูลทุกด้านของบุคคลมาจัดไว้อย่างเป็นระบบ เพื่อใช้ประโยชน์ในการวิเคราะห์ สังเคราะห์ และวินิจฉัยปัญหา เพื่อช่วยให้มองเห็นบุคลิกภาพรวมของบุคคล จนสามารถเข้าใจถึงธรรมชาติของบุคคลและสาเหตุของปัญหาอย่างชัดเจน แล้วนำข้อมูลมาพิจารณาวางแผนให้การช่วยเหลือ แนะแนวให้บุคคลพยายามแก้ไขและพัฒนาสภาพชีวิตของตนให้สามารถดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
                   วัชราภรณ์  อภิวัชรางกูร  (2535:10)  กล่าวว่า การศึกษารายกรณี หมายถึง การศึกษาเรื่องราวของบุคคลอย่างละเอียดโดยผ่านกระบวนการในการศึกษารายกรณี เพื่อให้ผู้ศึกษาได้ทราบถึงกระบวนการของพฤติกรรม ประสบการณ์ และการเปลี่ยนแปลงอย่างสมบูรณ์ที่สุด พร้อมทั้งแนวทางช่วยเหลือ การป้องกัน  และการส่งเสริม เพื่อให้บุคคลที่ถูกศึกษานั้นสามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข
                   รุ่งทิพย์   ยอดประดู่ (2536 :9) กล่าวว่า การศึกษารายกรณี หมายถึง การศึกษาเรื่องราวของบุคคลอย่างละเอียดโดยผ่านกระบวนการศึกษารายกรณี เพื่อให้ผู้ศึกษาได้ทราบถึงสาเหตุของการเกิดปัญหา เพื่อจะหาแนวทางช่วยเหลือบุคคล ให้สามารถปรับปรุงตนเองให้ดีขึ้นทุกด้าน พร้อมทั้งแนวทางในการช่วยเหลือ  การป้องกัน และการส่งเสริมให้บุคคลที่ถูกศึกษานั้นสามารถดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขและมีประสิทธิภาพ
                   จากแนวคิดข้างต้น จึงสรุปได้ว่า การศึกษารายกรณี หมายถึง การศึกษาสาเหตุของพฤติกรรมของบุคคลอย่างละเอียด โดยใช้เครื่องมือในการแนะแนวเพื่อหาทางช่วยเหลือ ป้องกัน และส่งเสริมเพื่อให้บุคคลที่ถูกศึกษานั้นสามารถดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข
ความมุ่งหมายของการศึกษารายกรณี
                   1. เพื่อสืบค้นหาสาเหตุที่ทำให้ผู้เรียนมีพฤติกรรมที่ผิดปรกติ ซึ่งทางโรงเรียนจะได้ให้ความช่วยเหลือและแก้ไขได้อย่างถูกต้อง
                   2. เพื่อสืบค้นรูปแบบของพัฒนาการของนักเรียน ทั้งในด้านร่างกาย สติปัญญา อารมณ์ สังคม และจิตใจ
                   3. เพื่อช่วยให้นักเรียนได้เกิดความเข้าใจในตนเอง สามารถพัฒนาวางแผนชีวิต และตัดสินใจเลือกแนวทางการศึกษาต่อ และเลือกอาชีพที่เหมาะสม
                   4. เพื่อช่วยให้ผู้ปกครองเข้าใจในตัวเด็กของตนได้ดีขึ้น
                   5. เพื่อช่วยให้ครูเข้าใจนักเรียนได้อย่างละเอียด ลึกซึ้ง และถูกต้อง
ประโยชน์ของการศึกษารายกรณี
                   ในวิธีการศึกษารายกรณี ที่นำมาใช้ในการเก็บข้อมูลเป็นรายบุคคลเพื่อให้กรแนะแนวนั้น จัดเป็นกลวิธีที่มีประโยชน์ต่อผู้ที่นำมาใช้และบุคคลที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างมากซึ่งจำแนกออกได้ ดังนี้
                   ประโยชน์ต่อครูหรือผู้แนะแนวที่เป็นผู้ศึกษาโดยตรง
                         1.   ช่วยให้ครูหรือผู้แนะแนวได้ทราบรายละเอียด เกี่ยวกับตัวนักเรียนอย่างกว้างขวาง ทำให้รู้จักและเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์อย่างแท้จริง 
                         2. ช่วยให้ครูและผู้แนะแนวเข้าใจถึงสาเหตุและเงื่อนไขต่างๆ ที่ก่อให้เกิดพฤติกรรมที่เป็นปัญหา ทำให้มองเห็นลู่ทางที่จะช่วยเหลือแก้ไขปัญหาให้กับนักเรียนได้อย่างเหมาะสม 
                         3. ช่วยให้ครูและผู้แนะแนวมีความรู้และมีทักษะในการใช้เครื่องมือและกลวิธีต่างๆ ในการเก็บข้อมูลเกี่ยวกับตัวนักเรียน และยังช่วยให้เป็นคนที่มีเหตุผล รู้จักเก็บข้อมูลอย่างมีระบบ รู้จักแก้ปัญหาโดยใช้ข้อมูลที่ได้รวบรวมไว้มาประกอบในการพิจารณาตัดสินใจ
                   ประโยชน์ต่อนักเรียนที่เป็นผู้ไดรับการศึกษา
                         1. ช่วยให้นักเรียนได้เกิดความเข้าใจตนเอง ยอมรับความเป็นจริงเกี่ยวกับตัวเองมีการปรับปรุงตนเอง หรือแก้ไขปัญหาของตน เพื่อช่วยให้มีสภาพชีวิตที่ดีขึ้น
                         2. ช่วยให้นักเรียนมีกำลังใจและมีความเต็มใจที่จะดำเนินชีวิตต่อไปอย่างมีความหวัง
                   ประโยชน์ต่อคณะครูและโรงเรียน
                         1. ช่วยให้ครูรู้จักและเข้าใจนักเรียนของตนดีขึ้น ยินดีให้ความร่วมมือในการช่วยเหลือแก้ไขปัญหาให้นักเรียน
                         2. ช่วยให้โรงเรียนได้ทราบความเท็จจริงต่างๆ เกี่ยวกับปัญหาและความต้องการของตัวเด็ก ทำให้สามารถนำข้อเท็จจริงเหล่านั้นมาใช้ในการปรับปรุงการเรียนการสอน การจัดกิจกรรมและการใช้บริการด้านต่างๆ แก่นักเรียนได้อย่างเหมาะสม
                   ประโยชน์ต่อผู้ปกครองของนักเรียนที่ได้รับการศึกษา
                         1. ช่วยให้ผู้ปกครองเข้าใจเด็กของตนดีขึ้น ทำให้สามารถปฏิบัติต่อบุตรได้อย่างเหมาะสม
                         2. ช่วยให้ผู้ปกครองเกิดความสบายใจ เพราะตระหนักได้ว่า โรงเรียนมีความตั้งใจและจริงใจในการป้องกัน ช่วยเหลือ แก้ไขและส่งเสริมพัฒนานักเรียน
การเลือกนักเรียนเพื่อทำการศึกษารายกรณี 
                   ในการศึกษารายกรณีนั้น ครูสามารถเลือกนักเรียนได้หลายประเภท ไม่จำเป็นจะต้องเลือกเฉพาะนักเรียนที่มีปัญหาเท่านั้น ขึ้นอยู่กับจุดมุ่งหมายในการศึกษาของครูว่า ต้องการทราบเรื่องอะไร ครูควรเลือกนักเรียนเพื่อทำการศึกษารายกรณี สามารถจำแนกได้ดังนี้
                         1) นักเรียนที่ประสบผลสำเร็จในด้านการเรียนดีเยี่ยม
                         2) นักเรียนที่มีความสามารถพิเศษบางอย่าง เช่น ศิลปะ ดนตรี ฯลฯ
                         3) นักเรียนที่มีปัญหามาก
                         4) นักเรียนที่มีความทะเยอทะยานมีกำลังใจเข้มแข็งที่จะเอาชนะอุปสรรค
                         5)  นักเรียนที่เรียนอ่อนไม่สมารถที่จะทำงานในระดับที่เรียนอยู่ได้
                         6)  นักเรียนที่มีพฤติกรรมดีเด่นสมควรเอาเป็นตัวอย่าง
                         7) นักเรียนที่มีพฤติกรรมปรกติธรรมดาทั่วๆ ไป

No comments:

Post a Comment